ในปัจจุบันนี้ การแก้ปัญหาฟันซ้อนเกสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การจัดฟันเพื่อให้เครื่องมือช่วยดึงฟันแต่ละซี่ให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะตัดสินใจจัดฟันซ้อนเกด้วยเครื่องมือใดก็ตาม ลองมาทำความเข้าใจถึงปัญหาและความรุนแรงของฟันซ้อนเกให้มากขึ้น พร้อมไขข้อสงสัยว่า ปัญหาฟันเช่นนี้ควรจัดฟันดีหรือไม่
ฟันซ้อน ฟันเก เกิดจากอะไร?
1. กรรมพันธุ์
2. ฟันน้ำนมหลุดก่อนกำหนด หรือ อยู่นานเกินไป
ฟันน้ำนมจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของฟันแท้ที่กำลังจะขึ้น แต่หากฟันน้ำนมหลุดก่อนกำหนด ฟันแท้ที่กำลังจะขึ้นก็มีโอกาสที่จะผิดรูปและกลายเป็นปัญหาฟันซ้อนเกในที่สุด
นอกจากนี้ หากฟันน้ำนมไม่หลุดร่วงในเวลาที่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดเป็นปัญหาฟันคุดนอนขนานกับฟันน้ำนม หรือ อาจทำให้ฟันแท้แทรกตัวขึ้นมาที่บริเวณหน้าเหงือกและทำให้เกิดเป็นปัญหาฟันซ้อนแทน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักพบได้ในตำแหน่งฟันเขี้ยว
3. อุบัติเหตุ
4. พฤติกรรมที่สร้างแรงกดที่เหงือกและฟัน
การดูดนิ้วหัวแม่มือ ใช้ลิ้นดุนฟัน การใช้ขวดนม หรือ จุกหลอกเป็นเวลานาน ล้วนเป็นพฤติกรรมวัยเด็กที่สร้างแรงกดที่เหงือกและฟันได้ โดยหากทำพฤติกรรมเหล่านี้เป็นประจำในช่วงที่ฟันแท้กำลังขึ้นก็อาจส่งผลกระทบต่อการเรียงตัวของฟันและทำให้เกิดฟันเกได้
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่แข็งมาก ๆ เป็นประจำ ก็สามารถสร้างแรงกดที่เหงือกและฟัน จนทำให้ฟันผิดรูป หรือ มีการเรียงตัวที่ผิดปกติเมื่ออายุมากขึ้นได้เช่นกัน
ปัญหาที่เกิดจากฟันซ้อนเก
แม้จะยังไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตประจำวันในปัจจุบัน แต่หากไม่รีบดูแลรักษาตอนนี้ ฟันซ้อนเกก็อาจทำให้เกิดปัญหาหลากหลายด้านในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็น:
- ปัญหาด้านบุคลิกภาพและความมั่นใจ โดยฟันซ้อนและฟันเกจะส่งผลต่อการกระจายลมภายในช่องปากและการสัมผัสของลิ้นที่ไม่สมดุล ส่งผลให้เกิดปัญหาการพูดไม่ชัด อีกทั้งยังทำให้รู้สึกไม่มั่นใจขณะยิ้มอีกด้วย
- ปัญหาด้านการรับประทานอาหาร ฟันที่ซ้อนและเกจะทำให้ตัด ฉีก และเคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด ส่งผลให้อาหารไม่ย่อยและเกิดเป็นปัญหากับระบบทางเดินอาหารตามมาได้
- ปัญหาด้านสุขภาพช่องปาก เช่น ปัญหาคราบหินปูนสะสม เนื่องจากฟันซ้อนเกทำให้เกิดซอกมุมที่ทำความสะอาดได้ยาก นอกจากนี้ ตามธรรมชาติแล้ว ฟันในช่องปากของเราจะสามารถเคลื่อนที่ได้ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไปฟันซ้อนเกที่ขึ้นผิดตำแหน่งก็มีโอกาสเคลื่อนตัวไปเบียดกับฟันซี่อื่น ๆ จนทำให้เกิดเป็นปัญหาฟันล้มตามมาได้
การจัดฟันช่วยแก้ปัญหาฟันซ้อนและฟันเกได้อย่างไร?
การแก้ปัญหาฟันซ้อนเกสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อน ไปจนถึงข้อจำกัดฟันและร่างกายของเรา โดยการจัดฟันด้วยเครื่องมือประเภทต่าง ๆ ถือเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่เห็นผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากได้อย่างรอบด้าน ซึ่งในปัจจุบัน การจัดฟันซ้อนเกสามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้
1. การจัดฟันแบบติดเครื่องมือ (Braces)
การจัดฟันซ้อนเกด้วยวิธีนี้ จะเป็นการนำแผ่นแบร็กเก็ต (Brackets) มาติดตั้งที่บริเวณผิวหน้าฟัน จากนั้นจึงใช้ลวดโลหะ (Archwires) ร้อยไปตามแผ่นแบร็กเก็ต จากนั้นจึงใช้ตัวยึดเพื่อยึดลวดโลหะให้อยู่กับแบร็กเก็ต โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้คำนวณและตั้งค่าแรงดึงให้เหมาะสมกับฟันของแต่ละคน ทำให้แต่ละเคสใช้เวลาในการจัดฟันที่ไม่เท่ากัน
หมดสงสัย! จัดฟันซ้อนเกต้องถอนฟันไหม?
การจัดฟันเพื่อแก้ปัญหาฟันซ้อนเกไม่จำเป็นต้องถอนฟันทิ้งเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะฟันที่อยู่ภายในช่องปากของเรา
หากในกรณีที่มีฟันซ้อนขึ้นสองซี่ ทันตแพทย์อาจลงความเห็นให้ถอนฟันซี่ใดซี่หนึ่งออกไป แต่หากเคสไหนมีฟันเกด้านหน้า แต่ด้านหลังไม่มีฟันซี่อื่นอยู่ ทันตแพทย์อาจใช้เครื่องมือดันฟันเกด้านหน้าเข้าไปแทน ทำให้ไม่ต้องถอนฟันทิ้ง
2. การจัดฟันแบบใส (Invisalign)
สำหรับใครที่มีปัญหาฟันเกนิดหน่อย การจัดฟันแบบใสถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน โดยการจัดฟันแบบใส คือ การจัดฟันที่ทันตแพทย์จะทำการหล่อเครื่องมือที่สามารถครอบฟันของเราได้แบบพอดี สามารถถอดออกได้ตามต้องการ แต่หากจะให้เห็นผลลัพธ์ก็จำเป็นที่จะต้องใส่เอาไว้ให้ได้อย่างน้อย 22 ชั่วโมงต่อวัน และถอดออกเฉพาะเวลารับประทานอาหารเท่านั้น
นอกจากนี้ เครื่องมือการจัดฟันแบบนี้ยังมีสีใสตามธรรมชาติของสีฟัน ทำให้มองไม่ออกว่ากำลังจัดฟันอยู่ จึงทำให้ได้รับความนิยมในกลุ่มคนที่ต้องการจัดฟัน แต่ไม่ต้องการให้เครื่องมือจัดฟันมาบดบังความมั่นใจ
เพียงเท่านี้ก็เข้าใจและหมดสงสัยเรื่องการจัดฟันซ้อนเกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับใครที่มีปัญหาฟันเกนิดหน่อยและต้องการจัดฟันใส ตลอดจนผู้ที่มีปัญหาฟันซ้อนเกแต่ไม่มั่นใจว่าควรจะเลือกจัดฟันแบบใดถึงจะเหมาะสม ClearCorrect มาพร้อมกับนวัตกรรมจัดฟันใสด้วย ClearQuartz เครื่องมือที่ผ่านการจดสิทธิบัตรจากสหรัฐอเมริกา ช่วยเคลื่อนฟันของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ